การเปิดธุรกิจสปาและนวดไทยในประเทศไทยเป็นโอกาสที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะในยุคที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกำลังได้รับความนิยม ไม่เพียงแต่จะให้ประโยชน์ด้านการผ่อนคลายและสุขภาพแก่ผู้ใช้บริการ แต่ยังสามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเจ้าของธุรกิจได้อีกด้วย ThaiHand ได้รวบรวมขั้นตอนสำคัญเพื่อช่วยให้คุณเริ่มต้นธุรกิจสปาและนวดไทยตั้งแต่ศูนย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ธุรกิจนวดสปา เติบโตแค่ไหน ?
จากข้อมูลด้านบน จะเห็นได้ว่าธุรกิจนวดและสปาในประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงโควิด ทำให้มีการปิดตัวไปกว่า 4,000 แห่ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีการเปิดธุรกิจใหม่มากกว่า 7,000 แห่ง หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการ ประกอบกับนโยบายสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมการบริการเพื่อสุขภาพจากภาครัฐ ยิ่งช่วยเสริมความน่าสนใจให้ธุรกิจนี้เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนที่มองหาโอกาสขยายธุรกิจในประเทศไทย
นอกจากนี้ การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้ธุรกิจนวดและสปาสามารถปรับปรุงประสบการณ์การบริการได้มากขึ้น ผู้ประกอบการสามารถใช้ระบบการจองออนไลน์และแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า เช่น การจองผ่านแอปพลิเคชัน และการบริหารจัดการธุรกิจผ่านระบบออนไลน์
โดยสรุป ธุรกิจนวดและสปาในประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีและมีศักยภาพสูง ผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนสามารถมั่นใจได้ว่าตลาดนี้ยังมีความต้องการและโอกาสขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
16 ขั้นตอนการเปิดร้านนวดสปาที่คุณต้องรู้
1. หาโลเคชั่น: เลือกสถานที่ตั้งที่มีศักยภาพ เช่น ใกล้แหล่งท่องเที่ยว แหล่งชุมชน หรือทำเลที่เดินทางสะดวก เป็นจุดที่สามารถดึงดูดลูกค้าเป้าหมายได้ดี
2. ศึกษากลุ่มลูกค้า: ทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายว่าคือใคร เช่น คนไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือลูกค้าในท้องถิ่น โดยพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น ระดับรายได้ ความต้องการ และไลฟ์สไตล์ เพื่อวางแผนบริการและการตลาดให้ตรงกลุ่ม
3. ศึกษาคู่แข่ง: สำรวจร้านนวดในพื้นที่และบริการที่พวกเขาเสนอเพื่อทำความเข้าใจตลาดและจุดแข็งของร้านคุณ คิดถึงความแตกต่างที่คุณจะสามารถนำเสนอเพื่อดึงดูดลูกค้า
4. การจัดวางเตียงนวด: ออกแบบการจัดวางเตียงนวดให้เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดและสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับลูกค้า บรรยากาศควรจะสะดวกสบายและเหมาะกับการผ่อนคลาย ที่สำคัญคือต้องจัดวางเตียงให้ตรงตามเงื่อนไขของทางกระทรวงสาธารณสุขด้วย เช่นเรื่องระยะห่างของเตียง เป็นต้น
5. ทำโครงสร้างรายได้ตามจำนวนเตียง: วางแผนรายได้โดยคำนึงถึงจำนวนเตียงที่มีในร้าน และจำนวนรอบการให้บริการในแต่ละวัน เพื่อคำนวณรายได้ที่คาดหวังในแต่ละเดือน
6. ทำโครงสร้างต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนค่าตอบแทนหมอนวด: วางแผนต้นทุนสำหรับการจ่ายค่าตอบแทนให้กับหมอนวด (ค่ามือ) ต้นทุนผลิตภัณฑ์ต่างๆเช่นน้ำมันนวด สครับ ยาหม่อง ลูกประคบ ค่าซักผ้า รวมถึงค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าบริหารจัดการ (อย่าลืมใส่เงินเดือนตัวเองไปด้วยนะ) ค่าน้ำค่าไฟ และค่าเช่าพื้นที่ เป็นต้น เพื่อทำให้คุณเห็นภาพมากขึ้นว่าคุณต้องมีเงินสดสำรองไว้ประมาณเท่าไหร่หากไม่มีลูกค้าในช่วงแรกๆที่เปิดกิจการ
7. ทำการประเมินการคืนทุน: ประเมินระยะเวลาที่ธุรกิจจะสามารถคืนทุนได้ โดยคำนึงถึงทั้งรายได้และต้นทุนที่คาดการณ์ไว้ เพื่อวางแผนการเงินอย่างเหมาะสม
8. ออกแบบและก่อสร้าง: เริ่มออกแบบภายในร้านให้น่าดึงดูด สร้างบรรยากาศที่สะดวกสบายและผ่อนคลาย เตรียมพื้นที่ให้สอดคล้องกับคอนเซปต์ที่ต้องการ โดยก่อนจะคุยกับผู้ออกแบบ คุณควรจะเห็นภาพขั้นตอนการรับลูกค้าตั้งแต่ลูกค้าเดินเข้าร้านจนออกจากร้าน เพื่อให้คุณคิด function ของการบริการได้ครบ เช่นต้องอย่าลืม จุดล้างเท้า จุดดื่มชาขนม ห้องพักหมอนวด เป็นต้น
9. จัดซื้ออุปกรณ์ ของใช้เข้าร้าน: จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เตียงนวด ผ้าเช็ดตัว น้ำมันนวด และของใช้ที่เกี่ยวข้อง เตรียมทุกอย่างให้พร้อมสำหรับการเปิดร้าน
10. จัดทำ SOP มาตรฐานในการให้บริการ: กำหนดมาตรฐานในการให้บริการเพื่อให้พนักงานทุกคนปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน โดยอาจจะแบ่งเป็น SOP ในห้องนวด เช่นมาตรฐานในการนวดแต่ละบริการ ว่าจะมีท่านวด signature ของทางร้านไหม และ SOP นอกห้องนวด เช่นบทสนทนากับลูกค้าที่เข้ามาในร้าน และบทสนทนาหลังจากลูกค้าใช้บริการเสร็จ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
11. คัดและอบรมพนักงาน: คัดเลือกและอบรมพนักงานให้มีความรู้ ทักษะ และมารยาทที่เหมาะสม พร้อมกับแนะนำวิธีปฏิบัติตามมาตรฐาน SOP เพื่อให้การบริการได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
12. ติดตั้งระบบ POS: เลือกและติดตั้งระบบ POS ที่ช่วยในการจัดการธุรกิจ เช่น การจองคิว การจัดการการชำระเงิน และการติดตามข้อมูลลูกค้า เพิ่มความสะดวกให้ทั้งลูกค้าและพนักงาน โดยสามารถลองดูระบบ ThaiHand POS ได้ เนื่องจากเป็นระบบที่ถูกออกแบบมาให้กับร้านนวดสปาโดยเฉพาะ และยังได้รับความไว้วางใจจากร้านนวดสปาทั่วไทย และในต่างประเทศ
13. ทำแผนการตลาดและโปรโมชั่น: วางแผนการตลาดและสร้างโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าในช่วงเปิดร้าน อาจใช้สื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย และโปรโมชั่นพิเศษเพื่อเพิ่มการมองเห็นและเข้าถึงลูกค้าใหม่
14. ทดลองเปิดร้านกับคนสนิท: เชิญคนสนิทมาลองใช้บริการก่อนเปิดจริงเพื่อรับฟังความคิดเห็น ปรับปรุงแก้ไขจุดบกพร่องให้พร้อมก่อนเปิดบริการอย่างเต็มรูปแบบ
15. ขอใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข: ธุรกิจนวดสปาในประเทศไทยต้องได้รับการอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข จัดเตรียมเอกสารที่จำเป็นและดำเนินการขอใบอนุญาตตามขั้นตอนให้ถูกต้อง เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย
16. เปิดบริการอย่างเป็นทางการ: ประกาศการเปิดร้านอย่างเป็นทางการ พร้อมให้บริการลูกค้าเต็มรูปแบบ ต้อนรับลูกค้าด้วยโปรโมชั่นและการบริการที่เป็นมืออาชีพ